2 เนื้องอกที่เกิดจากเซลส์โอลิโกเด็นโดรไซต์( Oligodendroglial tumors)
- Details
- Category: หมอศรัณย์เล่าให้ฟัง
- Written by อาจารย์หมอศรัณย์
- Hits: 13723
เนื้องอกที่เกิดจากเซลส์โอลิโกเด็นโดรไซต์( Oligodendroglial tumors) ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าสมองนั้นนอกจากจะมีเซลส์ประสาทแล้ว ยังมีเซลส์ชนิดอื่นหลายชนิดประกอบอยู่ร่วมด้วย เซลส์ดังกล่าวชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า โอลิโกเด็นโดรไซต์ (Oligodendrocyte) ซึ่งอาจเกิดความผิดปรกติ กลายเป็นเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma) หรือเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)
2.1 เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Oligodendroglioma)
เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา เป็นเนื้องอกที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง เช่นเดียวกับเนื้องอกแอสโตรไซต์โตมา แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เนื้องอกไม่มีผนังห่อหุ้ม และไม่มีขอบเขตของเนื้องอกที่ชัดเจน ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (กลายเป็นเนื้องอกชนิดแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา) มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ ในช่วงวัยผู้ใหญ่ประมาณ 40-45 ปี
อาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการชัก แต่บางครั้งอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ
ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรงของเนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา เป็นระดับที่ 2 ก้อนเนื้องอกมีการเติบโตที่ไม่รวดเร็วนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานอาจจะมากกว่า 10 ปี สาเหตุการเสียชีวิตมักเกิดจากเซลส์เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา มีการงอกซ้ำหลังการรักษา หรือมีการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้น เป็นเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา
การรักษา เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา รักษาโดยการทำผ่าตัด เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดนั้น แพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อ โดยไม่ทำอะไร หรืออาจจะแนะนำให้ยาเคมีบำบัดหรือทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
2.2 เนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา (Anaplastic oligodendroglioma)
เนื้องอกอาการแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับ เนื้องอกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา แต่มีการแพร่กระจายและการขยายตัวที่รวดเร็วกว่า มักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี
อาการ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการชัก อาการปวดศีรษะ หรืออาการผิดปรกติของสมองในรูปแบบต่างๆ
ระดับความรุนแรง องค์การอนามัยโลกได้จัดความรุนแรง ของเนื้องอกแอนนาพลาสติกโอลิโกเด็นโดรกลัยโอมา เป็นระดับที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี
การรักษา ใช้วิธีผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดและฉายแสงร่วมกัน
โดย นพ.ศรัณย์ นันทอารี อาจารย์สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำหรับเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป ที่ www.ThaiBrainTumor.com 10 ก.พ. 2552
หมายเหตุ
- บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความตั้งใจจริงของ คุณ Admin ซึ่งเคยป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมองและมีความประสงค์ที่ดีที่จะจัดทำ Web site ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนไทยที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมอง
- เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเนื้อหาในบทความนี้จึงอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต รวมทั้งเนื้อหาในบทความนี้เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นซึ่งไม่ได้ดีกว่า หรือถูกต้องกว่าความเห็นอื่นๆ ที่อาจจะแตกต่างกันออกไปแต่อย่างไร